สวัสดี..คุณผู้อ่าน….ผู้ที่สนใจทุกท่านคะ ในครั้งนี้ดิฉันขอนำทุกท่านกลับเข้ามาสู่เนื้อหาสำคัญที่เป็นประโยชน์ และคิดว่าทุกท่านๆได้เคยได้ยิน รู้จักเป็นอย่างดี คือเรื่อง กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2538 ในลักษณะเงินทุนหมุนเวียนตามนัยมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 โดยได้เริ่มให้กู้ยืมครั้งแรกใน ปีการศึกษา 2539 ต่อมารัฐบาลได้พิจารณาเห็นความสำคัญ ของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา จึงได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2541 มีผลให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา มีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง
1.วัตถุประสงค์ของ “กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา”
เพื่อให้กู้ยืมเงินแก่นักเรียน นักศึกษา ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษา แบ่งเบาภาระด้านการเงินของผู้ปกครองและมุ่งหวังว่าผู้กู้ยืมเงินกองทุนฯ จะสามารถเล่าเรียนได้สำเร็จตามหลักสูตร มีความรับผิดชอบตนเองและสังคม โดยมีจิตสำนึกในการชำระเงินคืนกองทุนฯหลังจากสำเร็จการศึกษาแล้วเพื่อนำมาเป็นกองทุนหมุนเวียนให้รุ่นน้องได้มีโอกาสกู้ยืมเรียนต่อไป
2.คุณสมบัติผู้มีสิทธิ์กู้ยืม
นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (สายสามัญและสายอาชีพ) นักศึกษาระดับอุดมศึกษา (อนุปริญญาและปริญญาตรี) ทั้งภาคปกติ ภาคพิเศษ รวมทั้งการศึกษาประเภทอาชีวศึกษา (ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง อนุปริญญา ปริญญาตรี)
- เป็นผู้มีสัญชาติไทย
- เป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยมีรายได้ต่อครอบครัวไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี
- เป็นผู้ที่มีผลการเรียนดี ผ่านเกณฑ์การวัดและประเมินผลของสถาบันการศึกษา
- เป็นผู้ที่มีความประพฤติดี ไม่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของสถาบันการศึกษาขั้นร้ายแรง หรือไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสีย
- เป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามระเบียบ หรือประกาศการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในโรงเรียน สถานศึกษา หรือสถาบันการศึกษาที่อยู่ในสังกัด ควบคุม หรือกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงหรือส่วนราชการอื่นๆ
- ไม่เคยเป็นผู้สำเร็จปริญญาตรีในสาขาใดๆ มาก่อน
- ไม่เป็นผู้ที่ทำงานประจำในระหว่างการศึกษา
- ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
- ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลุหโทษ
- ต้องมีอายุในขณะที่ขอกู้ โดยเมื่อนับรวมกับระยะเวลาที่ปลอดหนี้ 2 ปี และระยะเวลาผ่อนชำระอีก 15 ปี รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 60 ปี
3.คุณสมบัติของผู้รับรองรายได้
- ข้าราชกาลระดับ 5 ขึ้นไป หรือเทียบเท่า หากรับราชการทหารหรือตำรวจ ต้องมียศตั้งแต่พันตรีหรือพันตำรวจตรี ขึ้นไป
- ผู้บริหารสถานศึกษา
- ผู้ปกครองท้องถิ่นระดับผู้ใหญ่บ้านขึ้นไป
4.ผู้ค้ำประกันในสัญญากู้ยืมเงิน (ข้อใดข้อหนึ่ง)
- บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง
- กรณีบิดา มารดาเสียชีวิต ให้ผู้ปกครองที่รับอุปการะเลี้ยงดูลงนามแทน
- บุคคลที่ประกอบอาชีพมีรายได้น่าเชื่อถือ
5.เงินให้กู้ยืม
- ค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา จ่ายเข้าบัญชีของสถานศึกษา
- ค่าครองชีพ ซึ่งได้แก่ ค่าที่พักและค่าใช้จ่ายส่วนตัว จ่ายเข้าบัญชีของนักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืมโดยผ่านบัญชีธนาคารกรุงไทยที่ผู้กู้ยืมเปิดบัญชีไว้
- หลักเกณฑ์การชำระหนี้
เมื่อผู้กู้ยืมเงินสำเร็จการศึกษา หรือเลิกการศึกษาเป็นเวลา 2 ปี ถือว่าผู้กู้ยืมเป็นผู้ครบกำหนดชำระหนี้ ผู้กู้ยืมเงินมีหน้าที่ต้องชำระเงินกู้ยืมคืนให้กับกองทุนฯ ตามระยะเวลา และวิธีการที่กำหนดไว้ในสัญญา หรือในระเบียบของคณะกรรมการกองทุนฯ
ผู้กู้ยืมที่กำลังศึกษาอยู่และไม่ได้กู้ยืมเงินติดต่อกันเป็นเวลา 2 ปี และไม่ได้แจ้งสถานภาพการเป็นนักเรียน นักศึกษาให้ธนาคารกรุงไทยทราบ ถือว่าเป็นผู้ครบกำหนดชำระหนี้
ก่อนวันที่ 5 กรกฏาคมของปีที่ครบกำหนดชำระหนี้ ผู้กู้ยืมที่ครบกำหนดชำระหนี้งวดแรกจะได้รับหนังสือจากธนาคาร เพื่อแจ้งภาระหนี้ทั้งหมดของผู้กู้ยืม พร้อมทั้งตารางการผ่อนชำระหนี้ในแต่ละปี ทั้งนี้ในปีต่อไปธนาคารจะไม่ส่งหนังสือแจ้งภาระหนี้ให้ทราบอีก
ผู้กู้ยืมที่ครบกำหนดชำระหนี้จะต้องเริ่มผ่อนชำระหนี้งวดแรกภายในวันที่ 5 กรกฏาคม ของปีที่ครบกำหนดชำระหนี้
ผู้กู้ยืมจะต้องชำระดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใดในอัตราร้อยละ 1 ต่อปีของเงินต้นคงค้างของปีที่ 1 เป็นต้นไป โดยจะต้องชำระหนี้ภายในวันที่ 5 กรกฏาคม ของทุกปี และจะต้องชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 15 ปี นับจากวันครบกำหนดชำระหนี้งวดแรก
ผู้กู้ยืมสามารถเลือกผ่อนชำระหนี้เป็นรายปีหรือรายเดือนได้ แต่ระยะเวลารวมกันแล้วต้องไม่เกิน 15 ปี
หากผู้กู้ยืมไม่สามารถชำระหนี้ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด คือภายในวันที่ 5 กรกฏาคมของทุกปี ถือว่าผู้กู้ยืมผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งผู้กู้ยืมจะต้องชำระเบี้ยปรับ หรือค่าธรรมเนียมจัดการกรณีผิดนัดชำระหนี้เฉพาะเงินต้นที่ค้างชำระ แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้า..สวัสดีคะ