โครงการรักษ์ชุมชน คนไทยพวน เป็นโครงการที่ศูนย์การศึกษา นครนายก ได้มีการทำกิจกรรมต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลาหลายปี โดยชาวไทยพวนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความน่าสนใจกระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย โดยชาวไทยพวนที่อพยพมาจากแคว้นเชียงขวางหรือบริเวณที่ราบสูงในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นกลุ่มที่มีขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิต และภาษาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นชาติพันธุ์ที่มีการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมและมีเอกลักษณ์ของตนเองมาช้านาน (ไพบูลย์ วิริยะพัฒนไพบูลย์, 2553) ไม่ว่าจะเป็น คำสอน นิทาน วรรณคดี ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม ศิลปกรรม และภูมิปัญญาต่างๆ จึงถือได้ว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีทุนทางสังคมที่ควรไว้แก่การฟื้นฟู อนุรักษ์ต่อไป ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต โดยศูนย์การศึกษานครนายก ได้เล็งเห็นว่าในพื้นที่จังหวัดนครนายก มีชาวไทยพวน อาศัยอยู่จำนวนมาก จึงมีความน่าสนใจ และได้เห็นความสำคัญในการส่งเสริมให้นักศึกษาได้ลงพื้นที่ เพื่อศึกษาเรียนรู้และเผยแพร่ โดยการนำเอาวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น เรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ มาสร้างงาน สร้างสื่อการสอน และบริการให้เป็นวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ที่สามารถต่อยอดให้เห็นถึงคุณค่าในวัฒนธรรมท้องถิ่นไทยพวนต่อไป
ผลการดำเนินงานประกอบด้วย (1) การลงพื้นที่เพื่อสำรวจเกี่ยวกับวัฒนธรรมความเป็นมาของชาวไทยพวน จากจุดเริ่มต้นจนสิ้นสุดแล้วนำมาวิเคราะห์เพื่อออกแบบเส้นทางการเรียนรู้เชิงวิชาการเพื่อประกอบการเรียนการสอน (2) มีการนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการลงพื้นที่ศึกษาแต่ละเส้นทางที่มีความสำคัญและมีความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมด้านประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาของชุมชนไทยพวน มาบูรณาการกับรายวิชาการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมเพื่อพัฒนาผู้เรียนในรายวิชาการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย และรายวิชาฉลาดรู้คณิต-วิทย์ มาสร้างสื่อนวัตกรรมที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมไทยพวน เพื่อนำลงไปทดลองกับเด็กปฐมวัยหลังจากนั้น นำผลการประเมินพัฒนาการมาเขียนเป็นบทความวิจัยเพื่อนำไปเผยแพร่ต่อไป และ (3) นำสื่อนวัตกรรมจากกิจกรรมที่ 2 มานำเสนอในรูปแบบรายการภูมิปัญญา มรดกไทยพวน ทั้งหมด 4 EP และสร้างเป็น e-book ได้แก่ EP 1 สุกี้ไทพวน อาหารพื้นบ้านไทพวน เพื่อนำไปเผยแพร่ใน facebook ศิลปวัฒนธรรมชุมชนไทพวน จังหวัดนครนายก
นอกจากนี้ ในปีการศึกษา 2565 ศูนย์การศึกษานครนายก ได้เปิดสาขาวิชาการประถมศึกษาเพิ่มขึ้น จึงทำให้มีการบูรณาการร่วมกัน ระหว่าง 2 สาขาวิชา คือ สาขาประถมศึกษาและสาขาปฐมวัย ได้มีการเสริมทักษะให้กับนักศึกษาในการทำกิจกรรมและต่อยอดในเรื่องของการนำเสนองานวิจัย เพื่อเป็นการเผยแพร่ให้เป็นที่ยอมรับในงานของนักศึกษาเพิ่มมากขึ้น เกิดการส่งเสริมดังกล่าว มีการนำเสนอผลงานวิจัยของนักศึกษา จำนวน 2 เรื่อง คือ การส่งเสริมทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์โดยชุดกิจกรรมเสริมประสบการณ์อาหารไทยพวนสำหรับเด็กปฐมวัย และการใช้สื่อไทยพวนในกิจกรรมกลางแจ้งเพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัย ในการประชุมวิชาการระดับชาติ สำหรับนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ครั้งที่ 3