เจ้าหนี้ –ลูกหนี้ ทวงหนี้อย่างไร ไม่ผิดกฎหมาย (ภาพประกอบจาก http://www.consumerthai.org)
กลับมาพบกันอีกครั้งในสัปดาห์ที่สองของเดือน มกราคม ปี 2017 ปีไก่ปีระกา มาทำความรู้จักกับพรบ.พระราชบัญญัติการทวงหนี้ พ.ศ. 2558 เรื่อง ของการทวงหนี้นั้นไม่มีกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ใดๆเอาไว้เป็นเหตุให้เวลาเจ้าหนี้ทวงหนี้ก็มักจะใช้วิธี เพียงขอให้ลูกหนี้เอาเงินมาชำระหนี้ให้เท่านั้นก็พอ
ชื่อของกฎหมายทวงหนี้มีชื่อว่า พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ซึ่งกฎหมายได้กำหนดรายละเอียด วิธีการข้อห้ามในการทวงหนี้ ซึ่งรายละเอียดประชาชนคนส่วนใหญ่ที่ควรรู้มีอะไรบ้าง
พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 มาตรา 3 กำหนดว่า…ผู้ทวงถามหนี้” ได้แก่ เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ให้สินเชื่อ ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้จัดให้มีการเล่นการพนันเป็นปกติธุระตามกฎหมายว่าด้วยการพนันและเจ้าหนี้อื่น ซึ่งมีสิทธิรับชําระหนี้อันเกิดจากการกระทําที่เป็นทางการค้าปกติหรือเป็นปกติธุระของเจ้าหนี้
“ลูกหนี้” หมายความว่า ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา และให้หมายความรวมถึงผู้ค้ำประกัน
ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาด้วย
ผู้ที่จะถูกทวงหนี้คือ “ลูกหนี้ ” แต่ตามกฎหมายนี้ไม่ได้หมายความถึงเฉพาะลูกหนี้อย่างเดียวเท่านั้น ยังรวมไปถึง “ผู้ค้ำประกัน” ด้วย ฉะนั้นหากเจ้าหนี้จะทวงหนี้ผู้ค้ำประกัน เจ้าหนี้ต้องปฏิบัติต่อผู้ค้ำประกันอย่างลูกหนี้ด้วย
พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558
มาตรา11 (2) ห้ามผู้ทวงถามหนี้โดยใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น
มาตรา 39 บุคคลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 11(2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน1ปีหรือปรับไม่เกิน1แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 393 ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณาต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยสาระสำคัญของกฎหมายมีดังนี้
ลูกหนี้ควรรู้ไว้
ในกรณีถูกเจ้าหนี้ตามมาทวงเงินถึงที่ หากถูกข่มขู่คุกคามจะทำอย่างไรดี จะมีใครเข้ามาดูแลได้บ้าง และการถูกปฏิบัติแบบใดที่ถือว่าไม่เป็นธรรม จำข้อกฎหมายเหล่านี้เอาไว้ จะได้ไม่ถูกเจ้าหนี้เอาเปรียบ
- ข้อห้ามปฏิบัติของผู้ทวงหนี้
- ข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ทำให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายหรือทรัพย์สิน ผู้ฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- พูดจาไม่สุภาพ ดูหมิ่น ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
- เปิดเผยความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้คนอื่นได้รู้ ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
- ทวงหนี้ผ่านไปรษณีย์ หรือโทรสาร โดยมีข้อความแสดงการทวงหนี้ชัดเจน ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
- ห้ามระบุข้อความ เครื่องหมาย หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมาย ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
- ห้ามทวงหนี้แบบหลอกให้เข้าใจผิด
– ส่งเอกสารทำให้ลูกหนี้เข้าใจผิดว่าเป็นกระกระทำของศาล เช่น ส่งเอกสารที่มีตราครุฑมาให้ลูกหนี้ ผู้ฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
– ทำให้เชื่อว่ามีการส่งหนังสือบอกกล่าวทวงถาม (Notice) จากทนายความ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
– ใช้เอกสารที่ทำให้ลูกหนี้เข้าใจผิดว่าจะถูกดำเนินคดี หรือถูกยึดทรัพย์ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
– แอบอ้างว่าเป็นการทวงหนี้จากบริษัทข้อมูลเครดิตใดๆ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กฎหมายระบุด้วยว่า การติดตามกับลูกหนี้ ให้ติดต่อตามสถานที่ที่ลูกหนี้แจ้งไว้เท่านั้น ยกเว้นติดต่อไม่ได้ นอกจากนี้ยังกำหนดเวลาติดต่อลูกหนี้ ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00 – 20.00 น. และในวันหยุดราชการ ติดต่อได้ในเวลา 8.00- 18.00 น. เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
ส่วนบทลงโทษสำหรับคนทวงหนี้ หรือคนติดตามหนี้ นั้นมีในส่วนของโทษทางอาญา เช่นไปทวงหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ค้ำประกัน หรือมีพฤติกรรมข่มขู่ มีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกินห้าแสนบาท นอกจากนี้นักทวงหนี้ต้องขออนุญาตต่อคณะกรรมการกำกับการทวงหนี้ โดยต้องจดทะเบียนต่อทางราชการ หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท ซึ่งอีก 6 เดือน นับจากนี้ลูกหนี้จะได้รับการคุ้มครองมากขึ้น เพราะพระราชบัญญัติทวงถามหนี้ ฉบับพุทธศักราช 2558 จะมีผลบังคับใช้ โดยกฎหมายฉบับใหม่ห้ามไม่ให้เจ้าหนี้ใช้ความรุนแรง ห้ามใช้วาจาดูหมิ่น หรือก่อความรำคาญ รวมถึงกำหนดช่วงเวลาทวงหนี้ด้วย สาระสำคัญของพระราชบัญญัติทวงถามหนี้ 2558 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยกฎหมายฉบับนี่จะทำให้ลูกหนี้ได้รับความคุ้มครองมากขึ้น แล้วพบกันใหม่สวัสดีค่ะ
นางสาวปานใจ ยกกลิ่น
นิติกร ประจำศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งนครนายก