มหาวิทยาลัยสวนดุสิต นครนายก การศึกษาปฐมวัย ปริญญาตรี สมัครเลย!

กฎหมายน่ารู้ : ทำไมต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู

ทำไมต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู (ปานใจ ยกกลิ่น)

มาทำความรู้จักกับกฎหมาย (พ.ร.บ.) พระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 มาตรา 43 กำหนดให้ “วิชาชีพครู” เป็นวิชาชีพควบคุม ผู้ที่ประสงค์จะประกอบวิชาชีพครูต้องมี “ใบอนุญาต ผู้ประสงค์ประกอบวิชาชีพครู” จึงจะเป็น “ครู” ได้ เช่นเดียวกับแพทย์ หรือวิศวกร ฯลฯ หมายความว่า  ใครที่ทำหน้าที่ครู และสอนหนังสือในสถานศึกษา สถาบันการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน ต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการครู ครูอัตราจ้าง พนักงานราชการ รวมทั้งครูชาวต่างประเทศ

ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ออกให้ครั้งละ 5 ปี เสียค่าธรรมเนียม 500 บาท ครบ 5 ปี ต้องขอต่อใบอนุญาตใหม่ โดยจะมีการประเมิน หรือสอบก่อนต่อใบอนุญาตด้วย        ดังนั้น  ผู้ที่ประสงค์จะประกอบวิชาชีพครู ต้องขอมีใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพครูก่อน ซึ่งใบประกอบวิชาชีพจะควบคุมจรรยาบรรณวิชาชีพของครู โดยจรรยาบรรณวิชาชีพครูคือข้อปฏิบัติที่ครูต้องประพฤติปฏิบัติตาม ซึ่งถูกควบคุมด้วยใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจากคุรุสภา หากครูกระทำผิดจรรยาบรรณวิชาชีพ

คุรุสภามีอำนาจในการลงโทษในกรณีกระทำความผิดจริง โทษนั้นสถานเบาสุดไปหาหนักสุด ได้แก่

1.ตักเตือน

2.ภาคฑัณฑ์

3.พักใช้ใบอนุญาต (ไม่เกิน 5 ปี)

4.เพิกถอนใบอนุญาต (5 ปี)

ส่วนผู้ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา 43  เป็นผู้เข้ามาให้ความรู้แก่ผู้เรียนในสถานศึกษาเป็นครั้งคราว ในฐานะวิทยากรพิเศษทางการศึกษา ผู้จัดการศึกษาตามอัธยาศัย ผู้ทำหน้าที่สอนในศูนย์การเรียนตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ
นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ตามที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด ได้แก่ พระภิกษุที่ทำหน้าที่สอนหรือบริหารสถานศึกษา ผู้สอนศาสนาที่ทำหน้าที่สอนในสถานศึกษา ผู้สอนตามโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศ ข้าราชการตำรวจตระเวนชายแดนที่ทำหน้าที่สอนหรือบริหารโรงเรียนตำรวจตระเวน ชายแดน และข้าราชการสังกัดกระทรวงกลาโหม ผู้ทำหน้าที่สอนหรือบริหารโรงเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหมที่จัดการศึกษา ระดับปฐมวัย ขั้นพื้นฐาน และอุดมศึกษาที่ต่ำกว่าปริญญา

ประเภทของใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา มี 4 ประเภท คือ
-ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู
-ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา
-ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา
-ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพบุคลากรทางการศึกษาอื่น (ศึกษานิเทศก์)

ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 44

  1. อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์

2.มีวุฒิปริญญาตรีทางการศึกษา หรือเทียบเท่าหรือมีคุณวุฒิอื่นตามที่คุรุสภารับรอง

3.ผ่านการสอนในสถานศึกษาตามหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี และผ่านเกณฑ์การประเมินปฏิบัติการสอนตามหลักเกณฑ์ วิธีการหรือเงื่อนไขที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด เป็นต้น

ผู้ใดประกอบวิชาชีพควบคุมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือแสดงด้วยวิธี การใดๆให้ผู้อื่น เข้าใจว่าตนมีสิทธิหรือพร้อมที่จะประกอบวิชาชีพ รวมทั้งสถานศึกษาที่รับผู้มิได้รับใบอนุญาตเข้าประกอบวิชาชีพ ควบคุมในสถานศึกษา จะต้องได้รับโทษตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 78 และ 79 แห่งพระราชบัญญัติ สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2546  หัวใจมาตรานี้คือ ห้ามอวดอ้างว่ามีใบประกอบวิชาชีพครู ถ้าอ้างว่ามีประกอบ แล้วไปสอนในโรงเรียน จะได้รับโทษ ตามมาตรา 78 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีมาตรา 79 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 46 หรือ มาตรา 56 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นหรือทั้งจำทั้งปรับ

คุรุสภาทำการอนุญาตให้บุคคลปฏิบัติการสอนในโรงเรียนได้ 3 ประเภท ดังนี้

  1. ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ หมายถึง ผู้ถือใบนี้สามารถปฏิบัติการสอนได้เต็มรูปแบบในการศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ในสถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงระดับต่ำกว่าปริญญาตรี  สามารถรับได้จากการเรียนหลักสูตรทางการศึกษาที่ได้รับการรับรองของคุรุสภา, หรือผู้ทำคุณสมบัติครบตามที่ระบุในการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
  2. ใบอนุญาตปฏิบัติการสอน หมายถึง เป็นผู้มีมาตรฐานความรู้ตามที่คุรุสภากำหนด แต่ยังไม่มีมาตรฐานประสบการณ์ ผู้ถือใบนี้สามารถปฏิบัติการสอนได้ในการศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงระดับต่ำกว่า ปริญญาตรี ในสถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงระดับต่ำกว่าปริญญาตรี แต่อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้อำนวยการสถานศึกษา ใบอนุญาตปฏิบัติการสอน นี้ ได้จากการเข้าสู่กระบวนการเทียบโอนความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพของคุรุสภา และ/หรือ เข้าสู่กระบวนการทดสอบความรู้ตามมาตรฐานวิชาชีพของคุรุสภา ได้ครบ 9 มาตรฐาน หรือหลักสูตรเฉพาะที่ระบุว่าได้รับใบอนุญาตปฏิบัติการสอน ใบนี้มีอายุคราวละ 2 ปี ภายใน 2 ปี จะต้องกระทำตนให้มีประสบการณ์ในการสอน 1 ปีขึ้นไป จึงจะมาขึ้นทะเบียนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ต่อไป
  3. หนังสือขออนุญาตให้ปฏิบัติการสอนโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ มีที่มาจากหลายสถานศึกษายังมีความจำเป็นต้องใช้บุคลากรที่ยังไม่มีคุณสมบัติ ในการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตามที่คุรุสภากำหนด คุรุสภาจึงกำหนดแนวทางให้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบ วิชาชีพได้ กรณีสถานศึกษามีความจำเป็นต้องจ้างบุคคลที่ยังไม่มีมาตรฐานความรู้และ ประสบการณ์วิชาชีพตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยใบอนุญาตประกอบ วิชาชีพ พ.ศ. 2547 และข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ. 2548 โดยคณะกรรมการคุรุสภาอนุมัติเป็นหลักการ มอบให้เลขาธิการคุรุสภาอนุญาตให้ผู้ขอประกอบวิชาชีพทางการศึกษาโดยไม่มีใบ อนุญาตประกอบ ได้คราวละ 2 ปี โดยมีเงื่อนไขให้ผู้ได้รับอนุญาตจะต้องพัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติตาม ข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ. 2548 เพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพต่อไป

สรุปคือ    นอกจากครูจะถูกควบคุมให้มีใบประกอบวิชาชีพและมีจรรยาบรรณวิชาชีพครูแล้ว คนเป็นครูยังต้องมีคุณธรรมจริยธรรม สำหรับครู คือ ความดีงามที่อยู่ในส่วนลึกจิตใจของครู เป็นแรงผลักดันให้ครูทำหน้าที่ของครูอย่างถูกต้อง เหมาะสมและสมบูรณ์ยิ่ง คุณธรรมสำหรับครู เช่น กัลยาณธรรม พรหมวิหารสี่ สังฆหวัตถุสี่ ฆราวาสสี่ เป็นต้น แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้า

 

Loading